ก่อนเป็นวัด (พ.ศ.2510)
            เดิมบริเวณบ้านเขาหัวนา ซึ่งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 4  ตำบลป่าขะ อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก เป็นพื้นที่ป่าเขาการเดินทางติดต่อไม่สะดวก ต้องเดินเท้าและรถจักรยาน ไม่มีโรงเรียนและวัด  เมื่อ พ.ศ.2510  นายจรูญ  เอื้อดี ซึ่งเป็นข้าราชการครูได้มาริเริ่มโดยปรึกษาหารือกับนายหวาน  เอื้อดี (พี่ชาย)  และชาวบ้านเพื่อจัดสร้างโรงเรียนขึ้นโดย  นายหลิน นางเล็ก คำพา นายโฉม นางยิ้ม  เอกฉัตร และนายสิน นางพื้น ฉลาดถ้อย เป็นผู้มอบที่ดินให้เป็นที่ก่อสร้าง ได้ขอบริจาคไม้โดยชาวบ้านร่วมมือกันก่อสร้างอาคารชั่วคราวได้ 3 ห้องเรียน  ใช้ไม้กระดานทำเป็นโต๊ะ และม้านั่ง ให้นักเรียนนั่งเรียน  ทางราชการได้อนุญาตให้เปิดสอนเป็นทางการ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2510

 

 

ที่พักสงฆ์ (พ.ศ.2510 – 31 ตุลาคม 2511)
            ในขณะที่กำลังก่อสร้างโรงเรียนอยู่นั้น  หลวงปู่สุข  ซึ่งเป็นญาติกับนายหวาน  เอื้อดี (อา) ได้ธุดงค์มาพักอยู่ที่บ้านเขาหัวนา ชาวบ้านจึงร่วมใจกันก่อสร้างที่พักสงฆ์ขึ้นโดยนายแพง นางภู่  อุดมพร ได้บริจาคที่เชิงเขาทิศตะวันตกของโรงเรียนเป็นที่ก่อสร้าง นายโฉม นางยิ้ม เอกฉัตร ได้บริจาคยุ้งข้าว พร้อมทั้งดำเนินการโดยขอบริจาคไม้และอุปกรณ์อื่นๆ ที่ใช้ในการก่อสร้าง  รวมทั้งแรงงานชาวบ้านช่วยกันก่อสร้าง  ต่อมาได้ซื้อที่ดินของนางอ่ำ มะลิเงิน ขยายบริเวณให้ติดต่อกับโรงเรียน

สำนักสงฆ์ (สร้างเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2513)
            เนื่องจากบริเวณสร้างวัดเชิงเขาคับแคบที่จะก่อสร้างกุฏิ  หรือศาสนสถานเพิ่มเติมไม่เพียงพอเพราะมีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษาเป็นจำนวนมาก ทางคณะกรรมการจึงขอที่ดินของ นายหวาน นางเขียน  เอื้อดี  นายหลิน นางเล็ก  คำพา  และ นายสิน นางพื้น  ฉลาดถ้อย  ที่อยู่เชิงเขาเชื่อมต่อกับสถานที่ก่อสร้างโรงเรียนบ้านเขาหัวนา และย้ายขึ้นไปก่อสร้างสำนักสงฆ์บนที่ดินดังกล่าว  ต่อมาได้ขอซื้อที่ดินของนายปลั่ง  เติมสุข  เพื่อขยายพื้นที่การก่อสร้างทางทิศเหนือ จำนวน 7 ไร่ 2 งาน 34 ตารางวา พร้อมทั้งซื้อที่นางน้อย  บุตรเสือ  เชิงเขาด้านทิศตะวันตก ติดกับถนนสายบ้านนา กระเหรี่ยง  และตัดถนนทางขึ้นวัดด้านทิศเหนือ โดยนางคล้าม  แก้วประเสริฐ และ นายใย นางพัน  ประสาร  มอบที่ดินให้ เพื่อดำเนินการก่อสร้างวัดเขาหัวนาจนถึงปัจจุบันนี้